แชร์ประสบการณ์สร้างอาชีพเสริม งานประดิษฐ์ "ไม้ทำมือ" ของตกแต่ง ของขวัญ ของที่ระลึก
แชร์ประสบการณ์สร้างอาชีพเสริม งานประดิษฐ์ "ไม้ทำมือ" ของตกแต่ง ของขวัญ ของที่ระลึก“ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ รายได้ที่มาจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ไม่พอกิน พอใช้ ไม่เหลือเก็บออม ทางแอดมินจึงแนะนำงานไม้ทำมือ” จึงถือได้ว่าเป็นอาชีพเสริม ประเภทหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้เสริม เพิ่มมูลค่าของชิ้นงาน จำหน่ายออกไปได้เร็วกว่า เพราะสินค้าใช้ต้นทุนต่ำ ราคาจำหน่ายไม่แพงมาก
งานไม้ “งานประดิษฐ์จากไม้” ยังเป็นชิ้นงานที่มีออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดเด่นคือเป็นวัสดุที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว วัสดุประเภทไม้สังเคราะห์หรือ “ไม้เอ็มดีเอฟ” ก็ได้รับความนิยมทั้งโดยผู้ผลิตและผู้ซื้อชนิดแรงดีไม่มีตก ไม่มีตัน อย่างเช่นชิ้นงาน ’งานไม้ทำมือ“ ของ “วิเชียร แทนเครือ-อุมาพร แผ่นคำ” ที่ ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอ...
วิเชียร หนึ่งในหุ้นส่วน เล่าว่า เดิมทีทำงานประจำเป็นนักออกแบบด้านจิวเวลรี่ ต่อมาได้ลาออกและหันมาผลิตงานไม้ประเภทงานเฟอร์นิเจอร์เพื่อจำหน่ายควบคู่ไปกับงานทำเสื้อยืด และต่อมามองว่าตลาดเฟอร์นิเจอร์ต้องใช้ทุนสูง อีกทั้งการแข่งขันระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่ก็มีช่องว่างแตกต่างกันมากเกินไป จึงหันมาผลิต “งานไม้ทำมือ” ประเภทของขวัญ ของที่ระลึก ของตกแต่ง ซึ่งสามารถจำหน่ายชิ้นงานออกไปได้เร็วกว่า เพราะสินค้าใช้ต้นทุนไม่สูง ราคาจำหน่ายไม่แพงมาก อีกทั้งชิ้นงานแต่ละชิ้นนั้นลูกค้าสามารถซื้อและหิ้วติดตัวกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องรอระบบการขนส่งเหมือนเฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นใหญ่ ๆ จึงหันมาลุยธุรกิจนี้อย่างเต็มตัว โดยอาศัยการจำหน่ายชิ้นงานผ่านสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ทาง www.facebook.com/ispoopaashop โดยจำหน่ายผ่านช่องทางนี้มาได้ประมาณ 1 ปีแล้ว
ผลตอบรับที่ได้ถือว่าไปได้ดี โดยปัจจุบันมีทั้งที่ซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายต่อตามแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงที่สั่งทำชิ้นงานเฉพาะเพื่อนำไปทำเป็นของขวัญ ของชำร่วย เป็นต้น
ด้าน อุมาพร หุ้นส่วนอีกคน บอกว่า สำหรับจุดเด่นของชิ้นงานที่ทำขึ้น จะเน้นที่ความน่ารักของรูปทรง (shape) ของชิ้นงาน นอกจากนี้สีสันและลูกเล่นที่เกิดจากการขัดสีที่ไม้ก็เป็นอีกจุดเด่นที่ลูกค้าชื่นชอบ ทั้งนี้รูปแบบชิ้นงานจะมีการสำรวจตลาด ดูเทรนด์และความต้องการของตลาดว่าเป็นไปในทิศทางไหน ก่อนจะนำข้อมูลที่ได้มาปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสไตล์หรือเอกลักษณ์ของทางร้านอีกทีหนึ่ง ซึ่งข้อดีของงานไม้ทำมือนี้ อยู่ที่ผู้ผลิตสามารถพลิกแพลง ปรับเปลี่ยนรูปแบบของชิ้นงานได้ตลอดเวลา รวมถึงจะนำชิ้นงานหนึ่งมาประยุกต์เข้ากับอีกชิ้นงานหนึ่งก็สามารถทำได้
ปัจจุบันชิ้นงานที่ผลิตขึ้น มีอาทิ พวงกุญแจ, ที่แขวนพวงกุญแจ, ที่แขวนเครื่องประดับ, ป้ายตัวอักษร, ที่หนีบรูปภาพ, กรอบรูป เป็นต้น โดยขนาดของชิ้นงานมีตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ ไปจนถึงชิ้นงานขนาดใหญ่
“เท่าที่ทำมาประมาณ 1 ปี โดยอาศัยการจำหน่ายชิ้นงานผ่านทางเฟซบุ๊กอย่างเดียว เรียกว่าตลาดยังไม่ตัน ยังไปได้ สำคัญคือรายละเอียดของชิ้นงาน และรูปแบบที่ทำขึ้น ตรงใจหรือโดนใจกับกลุ่มลูกค้าของเราหรือเปล่า” อุมาพรกล่าว
ทุนเบื้องต้นในการทำชิ้นงานลักษณะนี้ ใช้ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในงานไม้ ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 40% ของราคา โดยราคาขายนั้นอยู่ที่ 59-500 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดชิ้นงาน
วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ประกอบด้วย ไม้อัดสังเคราะห์ (ไม้เอ็มดีเอฟ), เลื่อยไฟฟ้า, เลื่อยฉลุ, สีอะคริลิก, สีสเปรย์, ค้อน, ตะปู, นอต, ปืนยิงกาวร้อน, กาวลาเท็กซ์ และวัสดุตกแต่งอื่น ๆ เช่น เชือกปอ, โบกับริบบิ้น เป็นต้น โดยวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านที่จำหน่ายเครื่องมืองานไม้ทั่วไป
ขั้นตอนการทำ ยกตัวอย่างการทำ “พวงกุญแจไม้” เริ่มจากการออกแบบโครงร่างของรูปแบบสินค้าที่ต้องการ หากใครมีทักษะการออกแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็จะยิ่งช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น ส่วนใครไม่มีก็อาจใช้การวาดภาพร่างลงบนกระดาษแทนก็ได้ เมื่อออกแบบเสร็จแล้วก็ทำการตัดไม้เพื่อขึ้นแบบ โดยไม้เอ็มดีเอฟขนาดความกว้าง 1.20 เมตร ยาว 2.50 เมตรนั้น สามารถตัดชิ้นงาน เช่น พวงกุญแจ ได้ประมาณ 500 ชิ้น
เมื่อตัดไม้ขึ้นรูปเสร็จก็ทำการลงสี โดยใช้สีขาวทารองพื้นก่อนชั้นแรก จากนั้นทิ้งไว้รอให้สีแห้ง เมื่อสีแห้งก็ทำการทาสีที่ต้องการลงไปอีกครั้ง ทิ้งไว้ให้สีแห้งเช่นเดิม เมื่อสีแห้งแล้วก็ทำการตกแต่งขอบให้เรียบ ไม่ให้มีเสี้ยนติดอยู่ที่ชิ้นงาน จากนั้นทำการขัดสีให้ดูเหมือนว่ามีสีถลอกที่งานไม้ โดยใช้กระดาษทรายขัดที่ตัวชิ้นงานและที่ขอบชิ้นงาน ขั้นตอนนี้ต้องระมัดระวังอย่าขัดแรงเกินไป เพราะสีที่ทาไว้อาจถลอกมากเกินไปจนดูไม่สวย ต้องค่อย ๆ ขัดทีละนิดเพื่อให้เห็นสีรองพื้นที่ทาไว้ จากนั้นทำการติดวัสดุตกแต่งที่เลือกไว้ ทำการบรรจุลงบรรจุภัณฑ์ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ
“จริง ๆ ขั้นตอนในการลงมือทำมีไม่มาก และไม่ได้แตกต่างจากงานไม้ทั่ว ๆ ไป ที่จะเน้นเป็นพิเศษคือเรื่องของไอเดียและการคิดรูปแบบของชิ้นงานมากกว่า” วิเชียร เจ้าของชิ้นงาน กล่าว
สนใจติดต่อกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ จาก “งานไม้ทำมือ” รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-3542-9421 หรือตามเฟซบุ๊กข้างต้น และนี่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งงานไม้ประดิษฐ์ที่แม้จะเคยนำเสนอมาหลายครั้งหลายหน แต่ก็ยังมีคนช่างคิดประดิษฐ์ชิ้นงานออกมาขายได้อยู่เรื่อย ๆ สมกับวลีที่ว่า “มีไอเดีย ไม่มีตัน!!” จริง ๆ.
...............................................................
คู่มือลงทุน...งานไม้ทำมือ
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัสดุ ประมาณ 40% ของราคาขาย
รายได้ ราคาขาย 59-500 บาทต่อชิ้น
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด กลุ่มของใช้ ตกแต่ง ของชำร่วย
จุดน่าสนใจ ขายไอเดีย ใช้เงินทุนไม่สูงมาก
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : เรื่อง / ภาณุพงศ์ พนาวัน : ภาพ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น