วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558

งานศิลปะที่ใช้เทคนิคง่ายๆ "เปเปอร์มาเช่" งานประดิษฐ์ทำยามว่าง เปเปอร์มาเช่ เป็นงานที่สามารถทำได้หลายรูปแบบและทำได้ง่าย วัสดุที่ใช้ก็หาได้ง่ายและราคาถูก หลักการทำของงานเปเปอร์มาเช่คือการนำกระดาษที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาแช่น้ำจนเปื่อยแล้วมาปิดลงบนแบบที่เตรีบมไว้ ปิดหลายๆชั้น แต่ละชั้นจะทากาวไว้และจะต้องรอให้กาวแห้งก่อน แต่งผิวให้เรียบร้อย เสร็จแล้วจึงตกแต่งด้วยสี งานพาร์ทไทม์ลงทุนน้อย คุณสามารถสร้างผลงานตามจินตนาการของตัวเองได้โดยไม่ซ้ำแบบใคร 


วัสดุที่ต้องใช้
               งานกระดาษที่ส่วนใหญ่ใช้กระดาษราคาถูกสุดๆคือกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ไม่ใช้แล้ว บ้างทีก็อาจจะได้มาแบบฟรีๆครับ บางครั้งเราอาจต้องการโชว์ลายหนังสือให้ดูเป็นธรรมชาติ  กระดาษหนังสือพิมพ์ประเภทธุระกิจสีขาวก็ใช้ได้  ผมเคยเห็นกล่องที่นำกระดาษจากนิตยสารฝรั่งมาปิดชั้นนอกสุดเสร็จแล้วเคลือบด้วยน้ำยายูริเทนก็ดูเสวยน่าใช้ อันนี้ขึ้นอยู่กับไอเดียในการตกแต่งของแต่ละคน นอกจากนี้กระดาษชนิดอื่นก็สามารถนำมาใช้ในการตกแต่งได้เช่น กระดาษย่น การ์ดต่างๆ กระดาษแก้ว กระดาษที่ได้จากถุงกระดาษทั้งแบบสีเรียบและมีลวดลาย                  
เครื่องมือและอุปกรณ์
1กรรไกร
2มีดคัตเตอร์  เวลาใช้ระวังนิ้วมือด้วยครับ
3แผ่นรองตัด  เพื่อป้องกันไม่ให้คมมีดทะลุไปโดนผิวโต๊ะ
4กาว
5สี ใช้สีพลาสติกหลายๆสีตามแบบที่จะทำ
6เคลือบเงา อาจใช้แล็กเกอร์ทาหรือเป็นสเปรย์พ่นก็ได้ มีให้เลือกทั้งแบบเงาและด้าน ถ้าเป็นพื้นผิวสีขาวแบบทาจะทำให้สีหม่นลงเล็กน้อย ดังนั้นใช้แบบพ่นจะดีกว่า และถ้าเลือกได้กรุณาใช้แบบที่ไม่มีสาร CFC ก็ดีครับ นอกจากแลกเกอร์แล้วอาจใช้วานิช หรือต้องการแบบทนการขีดข่วนก็ยูริเทนเลยครับ หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างทั่วไป
7แปลงทาสีหลายๆขนาด  แปลงขนาดเล็กที่ใช้วาดลวดลายละเอียดๆขอแนะนำให้ใช้แบบที่มีคุณภาพดีหน่อยนะครับ ผลงานออกมาจะได้สวยและดูมีราคา
8กระดาษทรายละเอียด ตะไบขัดเล็บก็ใช้ได้ดีครับเวลาทีเราต้องการขัดในพื้นที่เล็กๆแคบๆ แต่ไม่ควรนำมาใช้โดยเจ้าของไม่อนุญาติครับ เดี๋ยวได้เครมประกันไม่รู้ด้วยล่ะ
9อุปกรณ์ตกแต่งเช่น ตาไก่ ลูกปัด เหล่านี้หากต้องใช้หาซื้อได้ที่แผนกเย็บปักถักร้อยตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป
10โต๊ะที่ใช้ในการทำงาน ควรเป็นโต๊ะที่มีผิวหน้าเรียบ สะอาด มีความมั่นคงแข็งแรง
ข้อควรระวังในการทำงาน            
               เครื่องมือและอุปกรณ์หลายอย่างเมื่อไม่ใช้งานควรเก็บให้มิดชิด พ้นมือเด็กเช่น มีด กรรไกร สี วัสดุตกแต่งชิ้นเล็กๆที่เด็กอาจนำเข้าปากเพราะสีสวยๆ เศษกระดาษ กาว  ทุกอย่างต้องเก็บให้เรียบร้อยอย่าทิ้งไว้ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย

การวาดและการตัดกระดาษ
     ควรใช้ดินสอที่มีความเข้ม HB หรือที่มีควมเข้มน้อยๆใช้เพียงร่างเส้นให้เห็นเท่านั้น กรณีที่ต้องตีเส้นให้ใช้เครื่องมือที่เหมาะสมเช่น วงกลมก็ใช้วงเวียน หากเป็นวงกลมขนาดเล็กอาจใช้ไม้บรรทัดที่มีรูวงกลมขนาดต่างๆ อย่าใช้เหรียญมาทาบแล้ววาด งานที่ได้อาจไม่สวยนัก  ส่วนการตัดควรใช้มีดคัตเตอร์หรือกรรไกรที่คม ใบมีดที่ใช้ไปนานๆความคมเริ่มกลายเป็นความทื่อก็สามารถเก็บไว้ใช้ตัดตัวแบบได้
การนำชิ้นงานมาต่อติดกัน
     บางกรณีเมื่อเราต้องการจะถอดแบบกระดาษออกจากแม่พิมพ์บางครั้งถอดตรงๆไม่ได้ จำเป็นต้องตัดออกเป็นสองหรือสามส่วน เมื่อจะประกอบเข้าด้วยกันก็ทากาวตรงรอยต่อและจับประกบจากนั้นจึงปิดตรงรอยต่อด้วยกระดาษกาว ( ดูภาพการนำแบบออกจากแม่พิมพ์ )
กาว
     กาวนี้มีหลายสูตรครับ ผมได้มาสูตรหนึ่งจากเพื่อนซึ่งเดิมมีอาชีพทำกระปุกหมูออมสินกระดาษขาย คงเคยเห็นนะครับ กระปุกหมูกระดาษสีแดงสด เมื่อมีเหรียญอยู่ภายในการยึดเกาะของกาวจึงต้องมีความแข็งแรงพอ ก็ขอขอบพระคุณไว้ ณ. ที่นี้ด้วย ส่วนผสมมีดังนี้ครับ
สูตรกาว
1แป้งมัน0.4กก.
2แป้งข้าวเจ้า1กก.
3สารส้ม1ก้อน
4น้ำ4ลิตร
วิธีทำ
1นำแป้งมันและแป้งข้าวเจ้าใส่ลงในหม้อ เติมน้ำลงไปพอคนให้เข้ากัน พักไว้
2เทน้ำส่วนที่เหลือลงในหม้ออีกใบต้มจนเดือด ใส่สารส้มลงไป 1 ก้อน คนให้สารส้มละลาย
3นำส่วนผสมแป้งขึ้นตั้งไฟ ใช้ไฟอ่อนและนำส่วนผสมข้อ 2 เทลงในส่วนผสมข้อ 1 เคี่ยวไปเรื่อยๆจนเหนียว ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
  การทำพิมพ์
      การทำเปเปอร์มาเช่บางครั้งเราจำเป็นต้องทำพิมพ์ขึ้นมาก่อน เราสามารถใช้ไม้อัดมาเป็นฐานในการหล่อพิมพ์ หรือจะใช้จานที่มีพื้นผิวแบนเรียบก็แล้วแต่กรณี เมื่อทำพิมพ์เสร็จแล้วก็เก็บผิวงานให้เรียบร้อยด้วยกระดาษทรายละเอียดอีกครั้ง
เทคนิคต่างๆในการทำงานเปเปอร์มาเช่
      งานเปเปอร์มาเช่นี้เมื่อเข้าใจการทำและชำนานพอสมควรแล้วคุณสามารถสร้างงานขึ้นมาได้เองได้โดยไม่จำเป็นต้องลอกแบบใคร เทคนิคและวิธีการทำต่างๆ ที่จะกล่าวถึงนี้ใช้ในการทำผลงานสวยๆของคุณเองแหละ และที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นเทคนิคที่นำไปประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์งานเปเปอร์มาเช่ ซึ่งจะมีตัวอย่างการทำอยู่ท้ายสุดของบทความนี้
การตัด 
               การใช้มีดคัเตอร์ตัดควรทำบนโต๊ะที่มีผิวเรียบ ไม่มีร่องหลุมหรือหัวตะปูให้สะดุด มีความมั่นคงและควรมีแผ่นรองตัดรองอยู่ด้านล่าง ในการกรีดตัดควรทำการกรีดนำร่องไปก่อนแล้วจึงกรีดซ้ำรอยเดิมให้กระดาษขาดออกจากกันอีกครั้ง ถ้าเป็นการกรีดเส้นตรงควรใช้บรรทัดที่ทำจากโลหะด้วย ที่สำคัญที่สุด ระวังนิ้วด้วยครับ
การทำแบบพิมพ์โดยใช้กระดาษแบบง่ายๆ 
               เทคนิคที่ประหยัดและทำได้ง่ายๆในการทำแบบพิมพ์จากกระดาษซึ่งควรเป็นกระดาษที่มีความหนาพอสมควรเช่น  กระดาษการ์ด  เมื่อเราร่างแบบลงบนกระดาษเรียบร้อยแล้วก็นำมาตัดออกและประกอบกันโดยใช้เทปกระดาษ (ดูรูป)
               ภาพแสดงการทำแบบพิมพ์จากกระดาษแข็ง
การทำแบบพิมพ์โดยใช้ดินน้ำมัน
               เราอาจใช้ดินน้ำมัน ปูนปลาสเตอร์หรือวัสดุขึ้นรูปอย่างอื่นมาใช้ โดยขั้นแรกนำมาคลึงด้วยไม้ทรงกระบอก หรืออาจใช้ขวดก็ได้เพื่อให้ดินอ่อนตัว จากนั้นนำแบบที่เตรียมไว้แล้วมาทาบ ใช้ใบมีดคัตเตอร์ซึ่งสามารถใช้ใบมีดเก่าที่ไม่ค่อยจะคมแล้วมากรีดตัดออกตามแบบ เสร็จแล้วทำการแต่งผิวตามขอบให้มนดูเป็นธรรมชาติ
 ภาพแสดงการนำดินน้ำมันมาขึ้นรูปตามแบบที่ต้องการ
การนำกระดาษมาปิดเป็นชั้นๆเพื่อขึ้นรูป
               การทำเปเปอร์มาเช่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้ เป็นการนำกระดาษมาตัดหรือฉีกเป็นท่อนเล็กๆ ทากาวและปิดลงบนแบบ จากนั้นทิ้งไว้ให้แห้งแล้วปิดชั้นต่อไป ระหว่างรอชิ้นงานแห้งก็อย่าลืมปิดฝาขวดกาวด้วย เดี๋ยวจะแห้งกันหมดพอดีไม่มีใช้ ในการปิดกระดาษในชั้นแรกควรทากาวบางๆและในทุกๆชั้นควรวางกระดาษในแนวเดียวกันเพื่อความแข็งแรง หากใช้กระดาษที่มีสีหรือลวดลายแตกต่างกันในแต่ละชั้นก็จะช่วยให้เราแยกความแตกต่างออกอย่างชัดเจนและสามารถปิดกระดาษได้เรียบร้อยไม่ขาดตกที่ใดที่หนึ่ง ตามซอกมุมที่นิ้วมือไม่สามารถเข้าถึงอาจใช้ใบมีดช่วยในการกดการะดาษให้แนบกับแบบตามซอกมุมต่างๆได้
                              ภาพแสดงการนำกระดาษมาตัดออกเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กยาว ทากาวและปิดลงบนแบบที่เตรียมไว้
การนำกระดาษมาบดเพื่อใช้เป็นวัสดุขึ้นรูป
               นำกระดาษหนังสือพิมพ์มาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 2.5 ตารางเซนติเมตร แล้วนำไปใส่ในชามอ่างขนาดใหญ่ เติมน้ำและแช่ทิ้งไว้ 6 - 8 ชั่วโมง จากนั้นนำลงต้มให้เดือดประมาณ 20 นาที รอให้เย็นลง เทกาวลงไปผสม คนให้เข้ากัน ใช้ช้อน ( ใหญ่ ) กดให้แบนเพื่อคั่นส่วนที่เป็นน้ำออกเหลือแต่เนื้อกระดาษหมาดๆ ถ้าใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิดเช่น ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่นหรือใส่กล่องที่มีฝาปิดมิดชิดจะเก็บไว้ได้นาน เราสามารถนำมาใช้ปั้นเป็นรูปสัตว์ต่างๆหรือปั้นตามแบบที่ต้องการได้
ภาพแสดงการนำกระดาษขนาดประมาณ 2.5 ตารางเซนติเมตรมาแช่น้ำจนเปื่อยและนำมาบดละเอียดเพื่อไว้ใช้ในการขึ้นรูป
การนำแบบออกจากแม่พิมพ์
               กรณีที่เราใช้ดินน้ำมันหรือวัสดุใดๆมาขึ้นเป็นแบบ เมื่อนำชิ้นกระดาษมาปิดจนมีความหนาพอแล้วต้องการจะแกะแบบออกจากแม่พิมพ์ ถ้าไม่สามารถถอดออกตรงๆได้ก็จำเป็นต้องตัดออกเป็นสองส่วนหรืออาจจะเป็นสามส่วนขึ้นอยู่กับลักษณะรูปร่างของต้นแบบ ถอดเอาดินน้ำมันหรือวัสดุขึ้นรูปออกจากพิมพ์ เสร็จแล้วตัดตกแต่งขอบให้เรียบร้อย ทากาวตามขอบและนำมาประกบกัน   ติดด้วยเทปกาวแล้วจึงปิดทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ทากาวอีกสองหรือสามชั้นจึงจะทำการเตรียมผิวเพื่อตกแต่งด้วยสีต่างๆ 
ภาพแสดงการตัดแบบออกจากแม่พิมพ์เพื่อนำดินน้ำมันที่อยู่ภายในออกและนำมาประกบเข้าด้วยกัน
การขัด การพอก และการรองพื้น
               เมื่อเราทำงานจนได้เป็นรูปร่างมาเรียบร้อยแล้ว งานต่อไปก็จะต้องทำการลงสี แต่ก่อนจะลงสีจำเป็นต้องมีการเตรียมผิวงานให้เรียบร้อยก่อน สีที่ได้จะได้จึงจะดูสวยและเรียบร้อย เราควรใช้กระดาษทรายค่อยๆขัดบริเวณที่มีเสี้ยนหรือบริเวณที่มีพื้นผิวไม่เรียบ ตะไบเล็บอันเล็กๆเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ดีและมีประสิทธิภาพเหมือนกันครับกรณีที่ต้องตะไบบริเวณที่เป็นมุมเล็กๆแคบๆที่กระดาษทรายเข้าไม่ถึง ส่วนบริเวณที่เป็นรอยบุ๋มลึกอาจใช้ขี้เลื่อยที่ได้จาการเลื่อยไม้มาผสมกาว คนให้เข้ากันทาลงบริเวณที่เป็นรอยบุ๋มลึก รอให้แห้งและแต่งด้วยกระดาษทรายอีกครั้ง
ภาพแสดงการขัดผิวด้วยตะไบ การพอกเพื่อตกแต่งส่วนที่ยังไม่เรียบร้อยก่อนการขัดด้วยกระดาษทรายอีกครั้งและทาสีรองพื้น 
               หลังจากทำการขัดเสี้ยน พอกตกแต่งผิวและรอจนแห้ง ขัดด้วยกระดาษทรายจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าต้องการให้สีสวยจริงก็ทำการลงสีรองพื้นก่อนที่จะลงสีและลวดลายต่างๆ ทั้งนี้กระดาษที่ปิดอยู่ชั้นนอกสุดควรจะเป็นกระดาษสีขาวที่ไม่มีลวดลวดใดๆ 
การลงสีโดยใช้ฟองน้ำ
               ปกติการทาสีจะใช้แปลงทาสีขนาดต่างๆ แต่การทาสีโดยใช้ฟองน้ำทำให้ได้งานที่ดูแปลกตา เนื้อสีก็จะไม่หนาจนเกินไป ใช้ฟองน้ำซับสีเบาๆต้องระวังอย่าซับสีมากจนเกินไปเพราะสีที่ได้จะเลอะและหนาเกินไป งานสีภายในตามอาคารต่างๆบางแห่งก็ใช้เทคนิคนี้เช่นเดียวกัน โดยอาจรองพื้นด้วยสีขาวก่อนและลงสีโดยใช้ฟองน้ำด้วยสีเทาอ่อนหรือสีอื่นๆตามต้องการ ดูสวย สว่าง การจัดเฟอร์นิเจอร์ก็ง่ายด้วยครับเพราะสีผนังจะเป็นสีอ่อนๆ 
ภาพแสดงการลงสีโดยใช้ฟองน้ำ
วาดแบบลงบนกระดาษก่อน เจาะรูส่วนที่จะทำให้เกิดลายแล้วทาบลงบริเวณที่จะลงสีโดยใช้เทปกระดาษปิดไม่ให้เลื่อน
การทำสีลายนูน
               การทำสีลายนูนช่วยทำให้งานมีลักษณะกึ่งสามมิติ แลดูแปลกตา แต่ก็ช่วยให้ผลงานที่ได้มีราคาขึ้น แต่ต้นทุนก็สูงขึ้นมากด้วยครับเพราะสีมีราคาแพง ในการลงสีลายนูนอาจใช้วัสดุต่างๆมาใช้ในการตกแต่งเพื่อให้ดูสวยงามขึ้น
ภาพแสดงการลงสีลายนูนโดยใช้ภู่กัน ตกแต่งงด้วยกากเพชร คริสตัล ลูกปัดขนาดเล็กลงบนผืนผ้าที่จะนำมาทำแขนเสื้อของตุ๊กตา
ตัวอย่างการผลิตงานเปเปอร์มาเช่
ตุ๊กตาแมวเหมียว
               ผมขอนำตัวอย่างการทำตุ๊กตาแมวเหมียวน่ารักๆมาฝากก็แล้วกันครับ พอเป็นไอเดีย เสร็จแล้วจะเปลี่ยนแปลงสี ลวดลายอย่างไรก็สุดแต่ท่านจะคิดก็แล้วกันครับ ดูรูปแล้วจะเห็นว่าน่ารักแบบนี้ ขายได้แน่ ใช้เป็นของขวัญก็ดูน่ารัก นำมาเป็นเฟอร์นิเจอร์แต่งห้องก็ดูดี 
 
 ภาพตุ๊กตาแมวที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนลงสีจะเปลี่ยนสี ลวดลายเป็นอย่างอื่นก็ได้ครับ 
วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้   โปรดดู หัวข้อ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์
วิธีทำ
               นำวัสดุรูปทรงกลม เช่น โฟมรูปทรงกลม ลูกปิงปอง จากนั้นนำกระดาษหนาเช่นกระดาษการ์ดแต่งงานหรือกระดาษนามบัตรมาทำหูทั้งสองข้างของตุ๊กตาและติดลงบนทรงกลม ( ดูรูป ) นำกระดาษที่ผ่านการแช่น้ำแล้วมาปิดลงทั้งทรงกลมเป็นชั้นๆ ( ดูเทคนิคการนำกระดาษมาปิดเป็นชั้นๆเพื่อขึ้นรูป ) 
               ส่วนของโหนกแก้ม ตาและหางใช้กระดาษบด ( การทำกระดาษบดเพื่อใช้เป็นวัสดุขึ้นรูป ) นำมาปั้นตามแบบ ปล่อยไว้ให้แห้ง และทำการลงสีและลวดลาย
               งานเปเปอร์มาเช่เป็นงานที่สามารถสร้างสรรได้ตามจินตนาการ ทำให้งานนี้สามารถพัฒนารูปแบบไปได้อย่างไม่รู้จบ ข้อดีก็คือเป็นงานที่ลงทุนไม่มากนัก ทำคนเดียวก็ได้ เครื่องไม้เครื่องมือส่วนใหญ่ก็ใช้จากที่ทุกครัวเรือนมักจะมีอยู่แล้ว ลองศึกษาเทคนิคการทำต่างๆและนำไปปรับใช้ดูและถ้ามีผลงานอยากจะอวดส่งมาให้ดูได้เลยครับ 
อ้างอิง ; PAPERMACHE จาก Chery Owen

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น